ถ่ายคอสเพลย์ ง่ายนิดเดียว (จริงๆนะ)

27 Oct 2019

Author : Nathachai

โดยส่วนตัวแล้วตัวผู้เขียนเป็นคนที่ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว และในวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็มีการแต่งการเลียนแบบตัวละครในการ์ตูน ซึ่งเราเรียกการแต่งการประเภทนี้ว่า คอสเพลย์ (Cosplay) การถ่ายคอสเพลย์ก็ไม่มีความแตกต่างอะไรมากจากการถ่ายรูปบุคคล (Portrait) ธรรมดา แต่ส่วนใหญ่เราจะเจอการคอสเพลย์ได้ตามงานคอสเพลย์ งานเกม งานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น หรืออื่นๆ (ไม่นับการถ่ายแบบไพรเวท) ซึ่งมักจะเป็นที่สาธารณะ และมีสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนเราจะเข้าไปถ่ายได้ บล็อกนี้ก็จะมาเล่าประการณ์ในการถ่ายคอสเพลย์ตามงานต่างๆ ให้ทุกคนที่สนใจได้ทราบกัน

มารยาทการถ่ายรูปคอสเพลย์ภายในงาน

เนื่องจากเราจะถ่ายรูปเหล่านี้ในที่สาธารณะและส่วนใหญ่เราที่เป็นตากล้องและตัวผู้คอสเพลย์ไม่รู้จักกันมาก่อน (เว้นบังเอิญรู้จักกัน ฮ่าๆ) และในสังคมมนุษย์ก็ควรมีมารยาท มีสามัญสำนึกที่ดีต่อกัน อย่างไรก็ตาม หลักมารยาทที่มีการระบุชัดเจนทางการนั้นยังไม่มี แต่ก็พอจะรวบรวมจากธรรมเนียมปฎิบัติ คือ

  • ควรขออนุญาตผู้คอสเพลย์ในการถ่ายรูปก่อน อาจจะเป็นการพูด หรือ หรือส่งสัญญาณให้ตัวผู้คอสเพลย์
  • คอสเพลย์เยอร์มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ถ่ายหรือไม่ก็ได้ และควรเคารพสิทธิ ควรให้เกียรติแก่ผู้คอสเพลย์โดยเฉพาะเพศหญิง
  • ไม่ควรถ่ายในเชิงที่ทำให้ผู้คอสเพลย์เสียหาย เช่น มุมวาบหวิว มุมโป๊ ถ่ายจังหวะที่คอสเพลย์ไม่พร้อม (ยกเว้นหากสนิทหรือถ่ายในเชิงเพื่อนๆกัน) ฯลฯ ซึ่งเมื่อรูปออกไปแล้ว จะทำให้ผู้คอสเพลย์เสียหาย
  • ในกรณีที่ถ่ายแล้วรูปออกมาดังข้อที่ 3 โดยไม่ได้ตั้งใจ ควรลบรูปนั้นทิ้ง หรือ ไม่ควรเผยแพร่
  • ในกรณีที่กำลังถ่ายรูปนั้นมีคนจำนวนมากกำลังถ่าย (รุมถ่าย) โปรดระมัดระวังการกระทบกระทั่ง หรือ บังหน้ากล้องผู้อื่น เมื่อถ่ายเสร็จตามที่ท่านต้องการแล้ว ควรออกจากจุดนั้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้อื่นถ่ายต่อได้ หรือ หากไม่สามารถออกไปได้ ขอให้อยู่นิ่ง รอจังหวะก่อน
  • หลีกเลี่ยงการถ่ายรูปบริเวณที่อาจจะรบกวนคนอื่นๆ เช่น หน้าบูธขายของ หน้าทางเดินเข้า/ออก หรือ ขวางเส้นทางการเดินอย่างมาก ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงไม่ควรไปถ่ายในบริเวณที่งานไม่ได้อนุญาต หรือ เขต บริเวณที่อาจจะออกนอกเขตการจัดงานมากเกินไป
  • ควรศึกษาถึงความหมายของคอสเพลย์ นั่นคือ คอสเพลย์ คือการแต่งกายเลียนแบบ ไม่ใช่เพียงโพสท่าแค่ความสวยงามอย่างเดียว ดังนั้น การโพสท่า การแสดงออกของผู้คอสเพลย์ จึงมีการโพสเพื่อเลียนแบบบุคลิกตัวละครนั้นๆอีกด้วย
  • เคารพและให้เกียรติต่อกฎ ระเบียบ และสตาฟ ของแต่ละงาน รวมถึงควรศึกษาระเบียบของงานและสถานที่นั้นๆ โดยทำตามอย่างเคร่งครัด

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงมารยาท ข้อความระวังอย่างคร่าวๆ โดยหลักแล้วคือการคำนึงเห็นอกเห็นใจกันระหว่างตากล้องนั่นเอง

สูตรลัดจัดกล้องง่ายๆ ได้รูปชัวร์

ทุกครั้งที่ออกงานประเภทนี้ เป็นงานนอกสถานที่ และตัวผู้เขียนเองยังเป็นเพียงนักศึกษาที่ยังไม่มีรถยนต์ส่วนตัว จึงมักจะพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะอย่างเช่น BTS, MRT เป็นต้น การพกพาชุดกล้องที่จะนำไปใช้ถ่ายจึงเป็นเรื่องลำบากถ้าหากชุดกล้องของเรามีขนาดใหญ่ เมื่อแบกรวมๆกันก็เอาเรื่องอยู่ เรามักจะจัดกล้องไปไม่ชุดใหญ่มาก เพื่อความคล่องตัวและสบายตัว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะจัดเตรียมไป หลักๆก็จะมี

1.กล้อง + เลนส์

สำหรับตัวผู้เขียนชื่นชอบกล้องประเภท Mirrorless เป็นพิเศษ ถ้าหากจะต้องไปถ่ายงานประเภทนี้ เพราะมีขนาดเล็กแต่ประสิทธิภาพน้องๆกล้องตัวใหญ่เลย

สำหรับเลนส์ หลักๆแล้วนำติดตัวไปแค่ 2 ชนิดก็เพียงพอแล้ว นั่นก็คือ เลนส์ Fix กับเลนส์ระยะกว้าง

เลนส์ Fix ระยะใดก็ได้ตั้งแต่ 35mm ขึ้นไป เอาไว้ถ่ายแบบภาพบุคคล และถามว่าทำไมต้องเอาเลนส์ระยะกว้างไปด้วย (หรือถ้าไม่มีใช้เลนส์ที่แถมมากับตัวกล้องหรือเลนส์ Kit ก็ได้) คำตอบคือ เพื่อให้ได้ภาพมุมที่แตกต่างไปจากภาพบุคคลธรรมดา ดังตัวอย่าง

ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ใช้ระยะกว้างในการถ่าย ก็จะมีมิติมุมมอง รูปแบบของภาพที่ได้ออกมา แตกต่างจากที่ถ่ายเพียงแค่เป็นภาพบุคคลธรรมดา

2.แบตเตอร์รี่/เมมโมรี่การ์ดสำรอง

งานเหล่านี้มักจะจัดกันทั้งวันและถ้าหากจะอยู่ให้ได้ทั้งวันก็ต้องมีแบตเตอร์รี่และเมมโมรี่การ์ดสำรอง จะได้ถ่ายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเราต้องถ่าย RAW กันทุกภาพ และ RAW ใช้พลังงานมากกว่าถ่ายรูปในรูปแบบปกติ

3.แฟลช (ถ้ามี)

หลายครั้งแสงในสถานที่มักแย่โดยเฉพาะที่จัดในร่ม จึงต้องใช้แฟลชเพื่อช่วยในปัญหาแสงไม่พอ

4.กระเป๋าใบเล็ก

เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีความคล่องตัวและเป็นการบังคับให้แบกของน้อยไปในตัว จะได้ไม่เป็นปัญญาต่อสุขภาพ

จัดเต็ม Post-Process อย่างยิ่งใหญ่ไฟกระพริบ

หลังจากที่เราได้รูปมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็จะนำรูปภาพมาทำกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากที่เราถ่าย RAW ออกมาแล้วเราจึงนำรูปมาเข้าในโปรแกรม Lightroom และทำการปรับรูปภาพให้มีแสงที่เหมาะสม

แต่เพื่อความสมจริงต่อตัวละครที่ผู้คอสเพลย์สวมใส่มา เราจะใช้โปรแกรม Photoshop เพื่อทำการเพิ่มองค์ประกอบตามที่ตัวละครจริงๆมี เช่นในตัวอย่างในขั้นต้น ที่ถุงมือและกลางหน้าผากมีไฟพ่นออกมา และนัยต์ตามีสีส้ม เราจึงเติมรายละเอียดเหล่านี้ลงไป

เพียงเท่านี้ เราก็ได้ภาพคอสเพลย์อันเท่ๆ ดูสมจริง ไว้โชว์ประชากรโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว!


แนะนำสำหรับคุณ